หลักเกณฑ์ในการเก็บหน่วยคะแนน

นิยามศัพท์

การศึกษาต่อเนื่อง” หมายถึง การศึกษา และ/หรือ การฝึกอบรมระยะสั้นที่จัดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต โดยหมายรวมถึงกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพหรือวิชาการหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรหรือพัฒนาวิชาชีพ

          “หน่วยคะแนน” หมายถึง จำนวนนับของกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องซึ่งกำหนดค่าเป็นหน่วยคะแนนตามเกณฑ์ที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์กำหนด

      1. หน่วยคะแนนที่เก็บสะสมจำนวน 50 หน่วยคะแนน ในรอบการสะสม 5 ปี

                หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องเพื่อการต่ออายุใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ต้องเป็นหน่วยคะแนนที่เก็บสะสมจำนวน 50 หน่วยคะแนน ในรอบการสะสม 5 ปี ตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต จนถึงวันที่ใบอนุญาตหมดอายุ และหน่วยคะแนนสะสมดังกล่าวจะใช้ต่ออายุใบอนุญาตฯ ได้เพียงครั้งเดียว

      2. สาขาที่เกี่ยวข้องในการนับหน่วยคะแนนสะสม

                ในรอบการสะสม 5 ปี ต้องสะสมหน่วยคะแนนทางวิชาการด้านการสังคมสงเคราะห์และด้านอื่น ๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. ความรู้และปฏิบัติการด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ทักษะ จรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือ ความรู้และปฏิบัติการด้านสังคมสงเคราะห์เฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ  เพื่อพัฒนางานที่ตนเองรับผิดชอบ ได้แก่ งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ งานสังคมสงเคราะห์ในการทำงานกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว  ผู้สูงอายุ  คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง งานสังคมสงเคราะห์ในกระบวนการยุติธรรม  การทำงานกับชุมชน  การประชุมสหวิชาชีพ งานบริหารที่ใช้ความรู้ทางสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ฯลฯ จำนวน 40 หน่วยคะแนน
  2. ความรู้และปฏิบัติการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 10 หน่วยคะแนน

3. ประเภทของกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาต่อเนื่อง แบ่งตามประเภทของกิจกรรมได้ ดังนี้

ประเภทกิจกรรมลักษณะกิจกรรม
ประเภทที่ 1การเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพหรือวิชาการ
ประเภทที่ 2การมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาบุคลากร หรือพัฒนาวิชาชีพในรูปแบบที่หลากหลาย
ประเภทที่ 3การเข้าศึกษาในหลักสูตรการศึกษา การเพิ่มพูนความรู้ หรือหลักสูตรฝึกอบรมด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ระยะสั้น
ประเภทที่ 4การเข้าศึกษาในหลักสูตรสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ในระดับ  บัณฑิตศึกษาของสถาบันการศึกษาที่สภาวิชาชีพให้การรับรองหลักสูตร
ประเภทที่ 5การศึกษาหรือเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศเช่นหลักสูตรออนไลน์     E-learning E-book หรือจากบทความ  เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาตด้วยการศึกษาต่อเนื่องต้องเลือกกิจกรรมประเภทต่าง ๆ
อย่างน้อย 3 กิจกรรมขึ้นไป* และรวมหน่วยคะแนนได้ 50 หน่วยคะแนน

*ยกเว้นผู้ที่สำเร็จการเข้าศึกษาในหลักสูตรสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ในระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบันการศึกษาที่สภาวิชาชีพให้การรับรองหลักสูตร (กิจกรรมประเภทที่ 4) และการแต่งตำรา หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและงานวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ผู้แต่งตำรา/หนังสือทั้งเล่ม ไม่น้อยกว่า 50 หน้า (กิจกรรมประเภทที่ 2) ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องในกิจกรรมชนิดอื่น เพิ่มเติม

สรุป การพิจารณาหน่วยคะแนนเพื่อต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ จะมีการสะสมหน่วยคะแนนตามหลักการของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ที่ประกอบด้วย

1. ความรู้และปฏิบัติการด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ทักษะ จรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือ ความรู้และปฏิบัติการด้านสังคมสงเคราะห์เฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ เพื่อพัฒนางานที่ตนเองรับผิดชอบ จำนวน 40 หน่วยคะแนน

2. ความรู้และปฏิบัติการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์และสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 10 หน่วยคะแนน

รวมเป็น 50 หน่วยคะแนน ในรอบการสะสม 5 ปี ตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาตจนถึงวันที่ใบอนุญาตหมดอายุ