หลักสูตรการให้การปรึกษาเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม


  • 2024-09-01

หลักสูตรการให้การปรึกษาเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม

     เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 301 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาแก่หญิงที่ทำให้ตนแท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งให้นั้น  ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในมาตรา 27 และ มาตรา 28 เนื่องจากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์ และวินิจฉัยว่า มาตรา 305 ซึ่งเป็นเหตุยกเว้นความผิดฐานทำแท้ง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากให้มีการปรับปรุงแก้ไขทั้งสองมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแก้ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน

     วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการประกาศ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยสองมาตรา 

     หลังจากมีการแก้ไขกฎหมาย ได้มีการพัฒนาบริการ 2 ส่วนด้วยกัน 1.ข้อบังคับแพทยสภา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564  และ 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจ และการปรึกษาทางเลือก ซึ่งประกาศฉบับนี้ รองรับ มาตรา 305 (5)  ปัจจุบันประกาศฉบับนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เบื้องต้นได้กำหนดให้ วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ให้การปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมถึง กำหนดให้ 6 กระทรวง จัดบริการให้กับผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงแรงงาน

     สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดทำหลักสูตร เพื่อใช้ในการจัดอบรมให้กับนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานเกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดความรู้ เนื้อหาสาระที่สำคัญ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง สุขภาวะของเด็ก หญิงและพัฒนาการทุกช่วงวัย ผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ของเด็ก หญิงและครอบครัว ผลกระทบทางด้านการเรียนและอาชีพ เป็นต้น  ตลอดจนการฝึกทักษะ เทคนิค และการให้การปรึกษา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ และเสริมสร้างสมรรถนะของนักสังคมสงเคราะห์ในการให้บริการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพงานสังคมสงเคราะห์ให้มีมาตรฐานในการให้บริการกับเด็กและหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการตั้งครรภ์ต่ออย่างมีคุณภาพ และการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และเพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้เข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธ์มากขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย


วัตถุประสงค์

     1. เพื่อให้ทราบถึงกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

     2. เพื่อให้มีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิทางเลือกในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม

     3. เพื่อให้สามารถใช้กระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ ในการให้บริการเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมและครอบครัวได้

     4. เพื่อให้มีองค์ความรู้ เทคนิค ทักษะเฉพาะ ในการให้การปรึกษาเด็กและหญิงที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมและครอบครัว ทั้งในด้านกาย จิตใจ สังคม และ การแพทย์สาธารณสุข  รวมถึงสามารถนำไปปรับใช้ในการให้บริการได้

     5. เพื่อให้มีช่องทางส่งต่อบริการในทางเลือกของเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม


กลุ่มเป้าหมาย
     นักสังคมสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ในหน่วยงานสังกัดกระทรวง ทบวงกรมต่าง ๆ และภาคเอกชน

โครงสร้างหลักสูตร
     จำนวน  33.5  ชั่วโมง  5  วัน  แบ่งเป็น  ภาคทฤษฎี  19.5  ชั่วโมง  ภาคปฏิบัติ  14  ชั่วโมง
     • ความรู้ที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย  เช่น กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งที่เปลี่ยนแปลงไป พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546   พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2549 เป็นต้น
     • ความรู้ที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์  ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ผลกระทบจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม
     • การเตรียมความพร้อมของเด็ก ผู้หญิง และครอบครัวก่อนการยุติการตั้งครรภ์และการติดตามหลังการยุติการตั้งครรภ์
     • การให้บริการกรณียุติการตั้งครรภ์ MA  และMVA  การดูแลก่อน ระหว่าง หลัง และการคุมกำเนิด
     • กรอบความเชื่อของสังคม ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ก่อให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม  สังคมไทยกับกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป
     • เจตคติ การจัดการความคิด ความพร้อมของผู้ให้การปรึกษา
     • ทักษะ เทคนิค หลักการ การปรึกษาทางเลือก  ทั้งรายบุคคล รายครอบครัว 
     • การประสานเครือข่าย กรณีตั้งครรภ์ต่อ และ ยุติการตั้งครรภ์
     • เครือข่ายNGO ที่ให้บริการท้องไม่พร้อมทั้งกรณียุติการตั้งครรภ์ และ การตั้งครรภ์ต่อ (1663, RSA, กลุ่มทำทาง, women help women, สหทัยมูลนิธิ, บ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง)

การประเมินผลการอบรม
     - Pre-test และ Post-test       10% (10 คะแนน)
        * Posttest มากกว่า Pretest ได้ 10 เท่าเดิม ได้ 5 น้อยกว่า ไม่ได้คะแนน
     - การมีส่วนร่วมในการประชุม อบรม (เวลาเข้าเรียน) 20% (20 คะแนน)
     - การมีส่วนร่วมในการประชุมกลุ่มย่อย รูปแบบต่าง ๆ 20% (20 คะแนน)
     - การสอบ Final รวมทุกวิชา        50% (50 คะแนน ต้องได้ 30 คะแนนขึ้นไป)
     ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องสอบผ่านในค่าคะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 (คะแนน final ต้องมากกว่า 30 ด้วย)