ยินดีต้อนรับ สมาชิกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ปีนี้ทางสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีการเปลี่ยนแปลงให้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม ระบบการศึกษาต่อเนื่อง และระบบสมาชิกให้มีการใช้งานได้ง่ายขึ้น ผ่านเว็บออนไลน์
สาส์นจาก นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ศ.ระพีพรรณ ค่าหอม


ประวัติสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์


ประวัติสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

         สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พุทธศักราช 2556 ซึ่งได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 130 ตอนที่ 8 ก วันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2556 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป คือวันที่ 25 มกราคม 2556
        ตามมาตรา 5 กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมมาตรฐาน จรรยาบรรณ ส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือหรือบริการทางสังคมเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ให้สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ตามประกาศสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 กำหนดตัวยอภาษาไทย คำวา “สวชส.” และ ภาษาอังกฤษ คำวา “SOCIAL WORK PROFESSIONS COUNCIL” กำหนดตัวยอภาษาอังกฤษ “SWPC”
        สำหรับตราสัญลักษณในระดับนานาชาติ ใช้คำว่า “สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะหแหงประเทศไทย”กำหนดตัวยอภาษาไทย คำวา “สวชสท.” และ ภาษาอังกฤษ คำวา “SOCIAL WORK PROFESSIONS COUNCIL OF THAILAND” กำหนดตัวยอภาษาอังกฤษ “SWPCT”


ที่ตั้งสำนักงานสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

         ในระยะแรกของการจัดตั้งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ได้รับการอนุเคราะห์จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ใช้พื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้ย้ายสำนักงานชั่วคราวไปที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้ประสานขอความอนุเคราะห์พื้นที่ของสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี จากผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หลายท่าน ซึ่งได้กรุณาสนับสนุนกิจการของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างดี และต่อเนื่อง ตามลำดับ อาทิ นางญาณี เลิศไกร นางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ นางนภา เศรษฐกร นายวิทัศน์ เตชะบุญ นางจินตนา จันทร์บำรุง ซึ่งได้กรุณาให้สำนักงานมาตั้งที่ชั้น 2 ตึกอาทิตย์ทิพอาภา ในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี โดยสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้มีประกาศจัดตั้งสำนักงาน ตามลำดับดังนี้
        ประกาศคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2556 จัดตั้งสำนักงานสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ที่ตั้งชั้น 7 อาคารตึกซี.พี. ทาวเวอร์ 3 อาคาร A เลขที่ 34 ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
         ประกาศคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2557 จัดตั้งสำนักงานสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ที่ตั้ง 255 ตึกอาทิตย์ทิพอาภา ชั้น 2 บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
        ปัจจุบันด้วยความกรุณาจากผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สนับสนุนที่ตั้งแห่งใหม่ทดแทนอาคารเดิมที่เสื่อมสภาพการใช้งาน สถานที่ตั้งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เลขที่ 255 ตึกกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400โทรศัพท์ : 02-050-9427 โทรศัพท์มือถือ: 098-380-1351

ช่องทางสื่อสารออนไลน์อย่างเป็นทางการ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประกอบด้วย 5 ช่องทาง ดังนี้
1. ช่องทางเพจ FACEBOOK แฟนเพจ : https://www.facebook.com/thaiswprofessionscouncil
2. ช่องทาง YOUTUBE : https://youtube.com/@thaisocialworkcouncil282?si=aEIGzCnfLqL1tpXP
3. ช่องทาง LINE Official : https://lin.ee/UXW9zSc
4. ช่องทางเว็บไซต์ : https://swpc.or.th/
5. ช่องทางเว็บไซต์การศึกษาต่อเนื่อง : https://cswpeducation.swpc.or.th/

การดำเนินงานของสาขาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
         มีความร่วมมือกันในการทำงานและการพัฒนาร่วมกันเป็นระยะ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (กสค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษา ได้แก่ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงสมาคมวิชาชีพในสายการแพทย์ ได้แก่ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์การแพทย์ไทย สมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช และคณะบุคคลที่เป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพหลายท่านจากกระทรวงต่างๆ ได้ร่วมมือกัน ผลักดันให้มีการส่งเสริมมาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์มาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากการดำเนินงานของนักสังคมสงเคราะห์มาจากกระทรวง หน่วยงานที่หลากหลาย การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพที่เป็นอยู่แต่เดิมจึงขึ้นกับความรับผิดชอบของกระทรวงแต่ละสังกัดที่กำหนดคุณลักษณะงานที่แตกต่างกันไป การรวมตัวกันจึงมีเป้าหมายให้เกิดการผลักดันวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในมาตรฐานคุณภาพของการทำงาน และมีองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามกฎหมาย
         การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในระยะต้น เป็นการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 โดยสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน สำนักงาน กสค. ให้รับผิดชอบจัดทำหลักเกณฑ์การส่งเสริมมาตรฐานของนักสังคมสงเคราะห์ จัดทำคู่มือ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและเชิญชวนให้หน่วยงานทางสังคมสงเคราะห์ส่งนักสังคมสงเคราะห์เข้าสู่ระบบการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ (มสค.) ขณะเดียวกันยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO และนักวิชาการต่าง ๆ ร่วมกันจัดทำมาตรฐานขององค์กรสาธารณประโยชน์ และมาตรฐานการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546

ความเป็นวิชาชีพของงานสังคมสงเคราะห์

     การพิจารณาความเป็นวิชาชีพของงานสังคมสงเคราะห์ มีหลักในการพิจารณาหลายองค์ประกอบ องค์ประกอบที่สำคัญที่ยืนยันว่าการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์มีความเป็นวิชาชีพได้แก่ (อภิญญา เวชยชัย, เอกสารสรุปเสนอคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร, 2555)

1. การสังคมสงเคราะห์ เป็นวิชาชีพที่ต้องมีศาสตร์หรือองค์ความรู้
         การสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพที่ต้องมีองค์ความรู้หรือศาสตร์ในการทำความเข้าใจสภาวะกาย จิต สังคมของมนุษย์ ครอบครัว ชุมชน และสภาพแวดล้อมทางสังคม อย่างลึกซึ้ง ทั้งสาเหตุแห่งปัญหา ความสัมพันธ์และผลกระทบจากสังคม สิ่งแวดล้อม พลังความเข้มแข็งของผู้ประสบปัญหา และทรัพยากรที่จะเชื่อมโยงมาใช้ในการแก้ไข ป้องกันปัญหา ให้สามารถทำหน้าที่และอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติสุข ศาสตร์ของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เป็นองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจในการทำงานกับมนุษย์ที่มีความหลากหลาย มีแนวคิดทฤษฎีเชื่อมโยงกำกับในการทำงานกับผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ องค์ความรู้เหล่านี้มีทั้งศาสตร์และศิลป์ หรือการเพิ่มพูนทักษะในการปฏิบัติงาน เพื่อยกระดับองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างเป็นพลวัต ไม่หยุดนิ่ง

2. การสังคมสงเคราะห์ เป็นวิชาชีพที่มีศิลปะในการทำงาน
         การมีศิลปะในการทำงาน หมายถึง ความสามารถในการใช้วิธีการทำงานที่เหมาะสม มีกระบวนการ ขั้นตอนการทำงานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็มีทักษะหรือเทคนิคในการผสมผสานความรู้ต่างๆ ให้สามารถนำมาใช้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ เวลา สภาพปัญหา สภาพแวดล้อม ทรัพยากรและศักยภาพในตัวตนของผู้ใช้บริการ

3. การสังคมสงเคราะห์ เป็นวิชาชีพที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตน
         วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทำงานโดยใช้ทฤษฎีและความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผสานกับทฤษฎีการปฏิบัติงานทางสังคมสงเคราะห์ (Theory of Practice) วิชาชีพนี้มีความสามารถในการจัดการทรัพยากร มีการใช้ทักษะเชิงลึกในการทำงานกับมนุษย์ที่มีความเป็น “มืออาชีพ” และมีเครื่องมือทางวิชาชีพในการประเมินและวินิจฉัยปัญหาของผู้ใช้บริการในการทำงาน

4. มีหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพ
         จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ถือเป็นหลักความประพฤติปฏิบัติ ที่อยู่บนฐานของการเคารพสิทธิ ศักดิ์ศรี และความเป็นมนุษย์ เป็นหลักที่ได้รับการยอมรับ เป็นค่านิยมของวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ยึดถือปฏิบัติ อันนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน พัฒนาคุณภาพเชิงวิชาชีพ ตลอดจนรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และสถานะของวิชาชีพ หลักจรรยาบรรณของวิชาชีพ จึงเป็นหลักปฏิบัติที่ถือเป็นกรอบทิศทางและค่านิยมในการทำงาน เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติ คุณธรรมของการปฏิบัติงาน
         หลักจรรยาบรรณทางวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ของประเทศไทย มีการศึกษาและผ่านการยอมรับในฐานะที่เป็นหลักจรรยาบรรณทางสากล เป็นหลักเกณฑ์ที่ปรับมาจากจรรยาบรรณวิชาชีพของประเทศต่างๆ ในทุกภูมิภาคของโลก เกือบสิบประเทศ และได้มีการนำมาประชุมทบทวนจากผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในหลายสาขาทั่วประเทศ และทีมสหวิชาชีพ เพื่อหาข้อสรุปเป็นข้อปฏิบัติในการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานทางสังคมสงเคราะห์ เช่น จรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อผู้ใช้บริการ จรรยาบรรณต่อเพื่อนร่วมงาน จรรยาบรรณต่อองค์กร จรรยาบรรณต่อวิชาชีพและจรรยาบรรณต่อสังคม เป็นต้น

5. มีวิธีการทำงานที่มีความชัดเจน
         ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ มีแนวทางการปฏิบัติที่ใช้วิธีการหลากหลาย ทั้งวิธีการปฏิบัติงานทางตรง การปฏิบัติงานทางอ้อมในลักษณะการผสานวิธีการ สามารถสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการทำงานกับมนุษย์ นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหา การคุ้มครองสวัสดิภาพและความมั่นคงในชีวิต การเฝ้าระวัง การพัฒนาบุคคล กลุ่มคน ชุมชน รวมทั้งการทำงานกับประชาคม เครือข่ายต่าง ๆ อันนำไปสู่การให้บริการที่ทั่วถึง เป็นธรรม และการรักษาสิทธิประโยชน์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้บริการ

6. มีองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิในความเป็นวิชาชีพ
         องค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิในความเป็นวิชาชีพ ได้แก่ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และยังร่วมมือกับสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากสมาชิก และองค์กรวิชาชีพในสาขา ต่าง ๆ ดำเนินบทบาทและกิจกรรมในการส่งเสริมความรู้ คุณภาพการปฏิบัติงานของสมาชิกอย่างต่อเนื่องตามนโยบายหรือข้อกำหนดตามกฎหมาย

7. จำนวนสมาชิกองค์กรวิชาชีพ
         สมาชิกองค์กรสภาวิชาชีพ มีองค์ประกอบทั้งสมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ สมาชิกกิตติมศักดิ์ที่เข้าร่วมและแสดงความสนใจในการทำงาน สมาชิกแต่ละกลุ่มมีจำนวนที่เหมาะสม มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันและสมาชิกมีส่วนร่วมในการทำงานกับองค์กรวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบัน สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ มีสมาชิกสามัญ จำนวน 4,373 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2567)
         โดยภาพรวม หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักการพิจารณาร่วมกัน ว่างานสังคมสงเคราะห์มีความเป็นวิชาชีพ และเพื่อที่จะรักษาองค์ประกอบของความเป็นวิชาชีพดังกล่าวให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีองค์กรทางวิชาชีพ คือ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนางาน และเป็นองค์กรที่มีพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ.2556 เป็นกฎหมายรองรับ

8. สาระสำคัญของกฎหมายวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

     จากหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พุทธศักราช 2556 ระบุว่า
         “... เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการปฏิบัติหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นและครอบคลุมไปหลายด้าน ประกอบกับมีกฎหมายหลายฉบับได้กำหนดหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติงานซึ่งเกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ประสบปัญหาในการดำรงชีวิตให้สามารถกระทำหน้าที่ทางสังคมและดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข สมควรให้มีองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในรูปของสภาวิชาชีพ เพื่อควบคุมมาตรฐานและจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีคุณภาพและมาตรฐาน และมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
         สาระสำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิชาชีพ มีนัยสำคัญหลายประการ ได้แก่
         ก. การกำหนดโครงสร้างขององค์กรวิชาชีพ “สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์” ทำหน้าที่ดูแล ควบคุม พัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ให้มีคุณภาพ ปฏิบัติงานอย่างมีจรรยาบรรณ
         ข. สภาวิชาชีพฯ จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการพัฒนามาตรฐานคุณภาพ การออกใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต กำหนดมาตรฐานการให้บริการ จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมความรู้ในการพัฒนาการทำงาน ส่งเสริมการศึกษา วิจัย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางาน และพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
         ค. องค์ประกอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ กึ่งหนึ่งมาจากผู้แทนของหน่วยงานที่มีนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติงาน (ภาครัฐ และ องค์กรสาธารณประโยชน์) และ อีกกึ่งหนึ่งมาจากการเลือกกันเองของสมาชิกสามัญที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
         ง. คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ จะแต่งตั้ง คณะกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อวางข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติด้านจรรยาบรรณ และดำเนินการสอบสวน กรณีมีการร้องเรียนเรื่องประพฤติผิดจรรยาบรรณ