คณะกรรมการจรรยาบรรณ วิชาชีพสังคมสงเคราะห์


คณะกรรมการจรรยาบรรณ

     คณะกรรมการจรรยาบรรณ มีฐานะเป็นกลไกของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามข้อกำหนดในมาตรา ๕ ที่กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมมาตรฐาน จรรยาบรรณ ส่งเสริม และพัฒนาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือหรือบริการทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

     เพื่อให้กลไกดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมายและเจตนารมณ์ของการควบคุมมาตรฐาน จรรยาบรรณ พระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้กำหนดไว้ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์แต่งตั้งคณะกรรมการจรรยาบรรณ จากผู้ซึ่งมีความเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ เป็นสมาชิกสามัญ ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาตมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อบังคับ ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และไม่ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ หรือเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการอื่นตามมาตรา ๓๕ ของพระราชบัญญัตินี้

องค์ประกอบคณะกรรมการจรรยาบรรณ

     ประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณและกรรมการจรรยาบรรณมีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเก้าคน ทำหน้าที่รับคำกล่าวหา เมื่อมีผู้กล่าวหาหรือปรากฏต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ดำเนินการสอบสวน และการพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ ตามมาตรา ๓๘

ข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

     ข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตามมาตรา ๓๓ ประกอบด้วย จรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ และจรรยาบรรณต่อสังคม ซึ่งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้ดำเนินการพัฒนา และจัดทำรายละเอียดตามข้อบังคับดังกล่าวไว้ในเอกสาร “จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์” เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ และได้ขยายความในรายละเอียดเพิ่มเติมในจรรยาบรรณต่อองค์กรที่สังกัด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสากล ค่านิยมและมาตรฐานการปฏิบัติงานวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ของสมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์นานาชาติ และสมาคมการศึกษาวิชาสังคมสงเคราะห์นานาชาติ (IFSW & IASSW Statement of Ethical Principles,๒๐๐๑ และจรรยาบรรณวิชาชีพสังคมสงเคราะห์แห่งอาเซียน (ASEAN Social Work Code of Ethics,๒๐๑๕)

วาระการดำรงตำแหน่ง

     คณะกรรมการจรรยาบรรณมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ ทั้งนี้ให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่ากรรมการจรรยาบรรณจะได้รับแต่งตั้ง

การพัฒนาระบบการดำเนินงานของคณะกรรมการจรรยาบรรณ

     คณะกรรมการจรรยาบรรณ สมัยที่ ๒ ได้ดำเนินการจัดทำ คู่มือ แนวทางการดำเนินงานตามข้อบังคับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการยื่นคำกล่าวหา การสอบสวน การพิจารณา การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ในกรณีมีการกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ประพฤติผิดจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๖๓ เพื่อเป็นข้อมูลที่ให้รายละเอียดของแนวทาง หลักเกณฑ์และวิธีการการยื่นคำกล่าวหาต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณ และแสดงถึงขั้นตอนการยื่นคำกล่าวหาที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการกำหนดแบบฟอร์มที่จะใช้ในการดำเนินการยื่นคำกล่าวหา การรับคำกล่าวหา หนังสือเชิญสอบสวนหาข้อเท็จจริง หนังสือเชิญให้ถ้อยคำ ฯลฯ เป็นต้น (เอกสารแนบ ๒) ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาระบบการดำเนินงานของคณะกรรมการจรรยาบรรณให้เป็นไปตามมาตรฐานและตามข้อบังคับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการยื่นคำกล่าวหา การสอบสวน การพิจารณา การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ในกรณีมีการกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ประพฤติผิดจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ตามที่กำหนดไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓